วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2552

พุทธประวัติจากจิตรกรรมฝาผนัง

















พระพุทธเจ้า เมื่อยังมิได้ตรัสรู้ ได้ทรงบำเพ็ญบารมีอยู่ในชาติต่าง ๆ เรียกว่า พระโพธิสัตว์
ในอดีตภพ พระโพธิสัตว์แห่งเรา บังเกิดเป็น สุเมธดาบส ได้พบพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง มีพระนามว่า พระพุทธทีปังกร ได้ตั้งความปรารถนาไว้ ขอให้ได้เป็นพระพุทธเจ้าเช่นพระองค์ท่าน
ครั้นพระพุทธเจ้าทีปังกรเสด็จผ่านทางที่เป็นเปือกตมหลุมบ่อ สุเมธดาบสก็ทอดตัวลงนอน ถวายหลังให้เป็นทางเสด็จ เมื่อพระทีปังกรพุทธเจ้าเสด็จถึง สุเมธดาบสก็ได้ตรัสพยากรณ์ว่า "ดาบสนี้ทำอภินิหารปรารถนา เพื่อเป็นพระพุทธะ ความปรารถนาของดาบสนี้จักสำเร็จ ในอนาคตเบื้องหน้าโน้น"
สุเมธดาบสครั้นได้รับพุทธพยากรณ์ ก็ได้ชื่อว่าเป็น โพธิสัตว์ นับแต่นั้นมา
ท่านแสดงว่า อภินิหาร ความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จักสำเร็จเพราะผู้ตั้งความปราถนา ประกอบด้วย ธรรมสโมธานแปดประการ ได้แก่
1. เป็นมนุษย์
2. เป็นบุรุษเพศสมบูรณ์
3. มีเหตุสมบูรณ์ คือ มีนิสัยบารมี พร้อมทั้งการปฎิบัติประมวลกัน เป็นเหตุที่จะให้บรรลุพระอรหัตต์ในอัตภาพนั้นได้แล้ว แต่เพราะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า จึงยังไม่สำเร็จก่อน
4. ได้เห็นพระศาสดา คือ ได้เกิดทัน และได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง
5. บรรพชา คือ ถือบวชเป็นนักบวช เช่น ฤษี ดาบส ไม่ใช่เป็นคฤหัสถ์
6. ถึงพร้อมด้วยคุณ คือ ได้อภิญญา 5 สมาบัติ 8 หมายถึงการได้สมาธิจิตอย่างสูง จนจิตบังเกิด ความรู้ ความเห็น อย่างมีตา มีหู รับรู้เห็นเกินมนุษย์สามัญ ที่เรียกว่า ตาทิพย์ หูทิพย์
7. ถึงพร้อมด้วยอธิการ คือ การกระทำอันยิ่งจนถึงอาจบริจาคชีวิตของตน เพื่อพระพุทธเจ้าได้
8. มีฉันทะ คือ มีความพอใจ มีอุตสาหพยายามยิ่งใหญ่ จนเปรียบเหมือนว่า ยอมแบกโลกทั้งโลก เพื่อนำไปสู่แดนเกษมได้ หรือเปรียบเหมือนว่ายอมเหยียบย่ำโลกทั้งโลกที่เต็มไปด้วยขวากหนาม หอกดาบ และถ่านเพลิงไปได้
ท่านผู้ประกอบด้วยธรรมสโมธานแปดนี้ ทำอภินิหาร ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าในสำนักของพระพุทธเจ้า พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ความปรารถนาของท่านย่อมสำเร็จได้
สุเมธดาบส มีธรรมสโมธานแปดประการบริบูรณ์ จึงมีอภินิหารปราถนาพุทธภูมิได้
ต่อจากนั้น พระโพธิสัตว์ก็ได้บำเพ็ญ พุทธการธรรมสิบประการ ได้แก่
1. บำเพ็ญทาน สละบริจาคสิ่งทั้งปวงจนถึงร่างกาย และชีวิตให้ได้หมดสิ้น เหมือนอย่างเทภาชนะใส่น้ำคว่ำจนหมดน้ำ
2. บำเพ็ญศีล รักษาศีลยิ่งกว่าชีวิต เหมือนอย่างเนื้อทรายรักษาขนยิ่งกว่าชีวิต
3. บำเพ็ญเนกขัมม์ ออกจากกาม จากบ้านเรือน เหมือนอย่างมุ่งออกจากพันธนาคาร
4. บำเพ็ญปัญญา เข้าหาศึกษา ไต่ถามบัณฑิต โดยไม่เว้นว่าจะเป็นบุคคลมีชาติชั้นวรรณะต่ำ ปานกลางหรือสูง เหมือนอย่างภิกษุเที่ยวบิณฑบาตรับไปตามลำดับ ไม่เว้นแม้นที่ตระกูลต่ำ
5. บำเพ็ญวิริยะ มีความเพียร ไม่ย่อหย่อนทุกอิริยาบท เหมือนอย่างสีหราชมีความเพียรมั่นคงในอิริยาบททั้งปวง
6. บำเพ็ญขันติ อดทนทั้งในคำยกย่อง ทั้งในการดูหมิ่นแคลน เหมือนอย่างแผ่นดินใครทิ้งของสะอาด หรือไม่สะอาดก็รองรับได้ทั้งนั้น
7. บำเพ็ญสัจจะ รักษาความจริงไม่พูดเท็จทั้งที่รู้ แม้ฟ้าจะผ่าเพราะเหตุไม่พูดเท็จ ก็ไม่ยอมพูดเท็จ เหมือนอย่างดาวโอสธี ดำเนินไปในวิถีของตน เที่ยงตรงทุกฤดู
8. บำเพ็ญอธิฐาน ตั้งใจมุ่งมั่นไม่หวั่นไหว คือเด็ดเดียวแน่นอนในสิ่งที่อธิษฐานใจไว้ เหมือนอย่างภูเขาหิน ไม่หวั่นไหวในเมื่อถูกลมกระทบทุกทิศ
9. บำเพ็ญเมตตา แผ่มิตรภาพไมตรีจิต ไม่คิดโกรธอาฆาต มีจิตสม่ำเสมอเป็นอันเดียวทั้งในผู้ให้คุณ ทั้งในผู้ไม่ให้คุณหรือให้โทษ เหมือนน้ำแผ่ความเย็นไปให้อย่างเดียวกันแก่คนทั้งชั่วทั้งดี
10. บำเพ็ญอุเบกขา วางจิตมัธยัสถ์เป็นกลาง ทั้งในคราวสุขในคราวทุกข์ เหมือนอย่างแผ่นดิน เมื่อใครทิ้งของสะอาดหรือไม่สะอาดลงไปก็มัธยัสถ์เป็นกลาง
พุทธการธรรมสิบประการนี้เรียกว่า บารมี แปลว่าอย่างยิ่ง หมายถึงว่าเต็มบริบูรณ์ บำเพ็ญจนเต็มบริบูรณ์ เมื่อใดก็สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อนั้น พระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญบารมี นับตั้งแต่ได้รับพยากรณ์ จากพระทีปังกรพุทธเจ้า ตลอดเวลาสี่อสงไขยแสนกัป ผ่านพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้ในกัปนั้นๆ นับแต่พระทีปังกรพุทธเจ้าเป็นต้นมาถึง 24 พระองค์ จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
บารมีที่บำเพ็ญมาโดยลำดับ แบ่งเป็น 3 ขั้น ขั้นสามัญเรียกบารมีเฉย ๆ ขั้นกลางเรียกว่าอุปบารมี และขั้นสูงสุดเรียกว่าปรมัตถบารมี
แต่นั้นมาก็ทรงบำเพ็ญบารมี 10 ประการ มีทานบารมีเป็นต้น อุเบกขาบารมีเป็นที่สุด ได้บำเพ็ญบารมีเป็นเวลานานนับด้วยกัลป์ สิ้นภพสิ้นชาตินับประมาณมิได้ ในภพชาติสุดท้ายได้บังเกิดเป็น พระเวสสันดร ทรงสร้างทานบารมีอย่างยอดเยี่ยม เมื่อสิ้นจากชาตินั้น ก็ได้ไปอุบัติในสวรรค์ชั้นดุสิต (สวรรค์กามาวจรชั้นที่สี่) เป็นเทพบุตรมีนามว่าสันดุสิตเทวราช
เมื่อใกล้กาลกำหนดที่จะจุติมาตรัส ได้เกิดโกลาหลขึ้นในบรรดาเทวดาทั้งปวง การเกิดโกลาหลนี้มีอยู่สามสมัยคือ สมัยเมื่อโลกจะวินาศ สมัยเมื่อพระเจ้าจักรพรรดิ์จะเกิด และสมัยเมื่อพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้น
เทวดาในหมื่นจักรวาฬ ได้พร้อมใจกันมาประชุมกันที่สวรรค์ชั้นดุสิต ทูลอาราธนาสันดุสิตเทวราชว่า ในกาลบัดนี้ สมควรที่พระองค์จะจุติไปบังเกิดในมนุษย์โลก เพื่อขนสัตว์ในมนุษย์โลกกับเทวโลก ข้ามให้พ้นจากห้วงแห่งความเวียนว่ายตายเกิด อันไม่มีต้นไม่ไม่มีปลาย ไม่รู้จบสิ้น ให้รู้ความจริงบรรลุถึงทางปฏิบัติซึ่งจะเข้าสู่พระนิพพาน
พระโพธิสัตว์ได้ทรงพิจารณาดู ปัญจมหาวิโลกนะ คือ กาล 1 ทวีป 1 ประเทศ 1 ตระกูล 1 พระมารดา 1
ข้อ 1 กาลกำหนดแห่งอายุมนุษย์ ถ้าอายุมนุษย์มากเกินแสนปีขึ้นไป หรือต่ำกว่าร้อยปีลงมา ก็ไม่ใช่กาลที่จะลงมาตรัส เพราะเมื่ออายุยืนมากเกินไปก็อาจเห็นไตรลักษณ์ ถ้าอายุสั้นเกินไปก็จะมีกิเลสหนาไม่อาจเห็นธรรม
ข้อ 2 ทวีป ทรงพิจารณาเห็นว่าชมพูทวีปเป็นทวีปที่เหมาะที่จะลงมาตรัส
ข้อ 3 ประเทศ ทรงพิจารณาเห็นว่า มัชฌิมประเทศ คือพื้นที่ส่วนกลางของชมพูทวีป เป็นสถานที่เหมาะที่จะลงมาตรัส
ข้อ 4 ตระกูล ทรงพิจารณาเห็นว่า สักยราชตระกูล และพระเจ้าสุทโธทนะ สมควรเป็นพระบิดาได้
ข้อ 5 พระมารดา ทรงพิจารณาเห็นว่า พระนางสิริมหามายา มีศีลและบารมีธรรม สมควรเป็นพระมารดาได้ทั้งจะมีพระชนม์สืบไป จากเวลาที่พระโอรสประสูติเพียงเจ็ดวัน สัตว์อื่นไม่อาจอาศัยคัพโภทรบังเกิดได้อีก
ครั้นพระโพธิสัตว์ทรงเห็นสถานะทั้งห้า มีครบบริบูรณ์แล้ว แล้วจึงทรงรับปฏิญญาณ เสด็จแวดล้อมด้วยเทพบริวาร ไปสู่นันทวันอุทยานในดุสิตเทวโลก และจุติลงสู่ปฏิสนธิในพระครรภ์แห่งพระนางสิริมหามายา พระอรรคมเหสีพระเจ้าสุทโธทนะ แห่ง กรุงกบิลพัสดุ์ ณ ชมพูทวีป ในวันอาสาฬหปูรณมีเพ็ญเดือน 8
สมเด็จพระนางสิริมหามายาเสด็จสู่วิวาหมงคล
สมเด็จพระเจ้าสีหหนุ กษัตริย์ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ ปรารถนาจะราชาภิเษกพระเจ้าสุทโธทนะมกุฎราชกุมาร ซึ่งมีวัฒนาการได้ 16 พรรษา ไว้ในเศวตราชาฉัตร สืบสิริราชสมบัติแทนพระองค์ จึงทรงส่งพราหมณาจารย์ผู้รอบรู้ในสตรีลักษณ์ไปสืบแสวงหานางรัตนกัญญา จนได้ประสพพระนางสิริมหามายาราชกุมารี พระราชธิดาของ สมเด็จพระเจ้าอัญชนา กษัตริย์แห่ง กรุงเทวทหะ มีพระสิริวิลาศต้องตามนารีลักษณ์ ไม่มีผู้เทียบเท่า
เมื่อพระเจ้าสีหหนุทรงรับราชบรรณาการ จากกษัตริย์แห่งเทวทหนคร ก็ทรงโสมนัสยิ่งนัก โปรดให้ทำการวิวาหมงคล และดำรัสสั่งให้เสนาอำมาตย์ ตกแต่งมรรคาตั้งแต่กรุงกบิลพัสดุจนถึงเทวทหนคร ประดับด้วยอลังการ ให้พวกกษัตริย์ศากยวงศ์ ประทับกุญชรชาติ พระเจ้าสุทโธทนะราชโอรส ประทับช้างต้นเศวตไอยรา แวดล้อมด้วยกษัตริย์จำนวนมากเป็นบริวาร พลม้า พลเดินเท้าถือธนูเป็นจำนวนมากแห่ไปเบื้องหน้า พร้อมทั้งสรรพเสบียงอาหาร สู่อโศกอุทยาน
วิวาหมงคลปริวัตต์
พระราชพิธีมงคลราชาภิเษกสมรส พระเจ้าสุทโธทนะ กับพระนางสิริมหามายา ได้จัดขึ้นที่อโศกราชอุทยานแห่งเทวทหนคร
พระนางสิริมหามายาทรงเครื่องแล้ว ก็เสด็จไปสู่ราชอุทยาน พร้อมด้วยหมู่ขัตติยกัญญาบริวารเป็นจำนวนมาก พระเจ้าชนาธิราชพระราชบิดา กับพระนางสุนันทาเทวีพระราชชนนี เสด็จตามขบวนไปด้วย ประชาชนพลเมืองก็มาห้อมล้อมมหาวิวาหมงคลมณฑปอยู่โดยรอบ
ทรงยับยั้งอยู่ในมณฑปโรงราชพิธี มีการมหรสพครบถ้วนไตรมาสแล้ว จึงได้เสด็จกลับไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสีหหนุจึงประกอบพระราชพิธีมงคลราชาภิเษก กษัตริย์ทั้งสองขึ้นครองราชสมบัติแทนพระองค์ พระเจ้าสุทโธทนะก็เสวยราชสมบัติสืบสันติวงศ์ กับพระนางสิริมหามายา จนเกิดพระราชโอรส คือ พระสิทธัตถกุมาร
พระนางสิริมหามายาทรงพระสุบินนิมิต
เมื่อพระสิทธัตถราชกุมารถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา จากสวรรค์ชั้นดุสิตตามตำนานกล่าวว่า วันนั้นพระนางทรงสุบินนิมิตรว่า มีท้าวมหาพรหมทั้งสี่มายกแท่นบรรทมของพระนาง ไปวางไว้ใต้ต้นรังใหญ่ ณ ป่าหิมพานต์ แล้วเหล่าเทพธิดานำพระนางไปสรงสนานใน สระอโนดาด เพื่อชำระล้างมลทิน แล้วมีช้างเผือกเชือกหนึ่งชูดอกบัวขาวลงมาจากภูเขาเงินภูเขาทอง ร้องบันลือเข้ามายังปราสาท ทำปทักษิณเวียนขวา 3 รอบ แล้วเข้าสู่อุทรเบื้องขวาของพระนาง
ประสูตรเจ้าชายสิทธัตถะ
เมื่อวันวิสาขบุรณมีดิถีเพ็ญเดือน 6 เจ้าชายสิทธัตถะราชกุมารได้ประสูติจากพระครรภ์ของ พระนางสิริมหามายา ณ ป่าลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ และกรุงเทวทหะต่อกัน
ในขณะนั้นเทพยดาทั้งหลาย และพระประยูรญาติ ซึ่งมีพระเจ้าสุทโธทนะเป็นประธาน ได้มาอนุเคราะห์ช่วยเหลืออย่างดียิ่ง
เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งที่พระมหาบุรุษ ได้เสด็จออกจากพระครรภ์พระมารดาแล้ว แสดงอิทธิปาฏิหารย์ก้าวพระบาทออกไปได้ 7 ก้าว เป็นบุพนิมิตหมายว่า พระองค์จะประกาศแสงสว่าง คือธรรมของพระองค์ไปใน 7 ชนบท ต่อจากนั้น พระเจ้าสุทโธทนะก็ได้เชิญเสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ แล้วเชิญพราหมณ์ 108 คน มาเลือกสรรค์เอาแต่เฉพาะ ผู้เชี่ยวชาญอย่างยอดเยี่ยมได้ 8 คน ทรงรับสั่งให้ขนานพระนามพระราชโอรส พวกพราหมณ์จึงขนานนามว่า สิทธัตถกุมาร เป็นมงคลนามซึ่งหมายความว่า เป็นผู้สำเร็จในสิ่งที่จะทำทุกประการ พอพระองค์ประสูติได้ 7 วัน พระราชมารดาก็เสด็จสวรรคต
พระศาสดาประสูติ ทรงพระราชดำเนินไป 7 ก้าว
ณ มงคลสมัยวันศุกร์วิสาขบุรณมีเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศก 80 ปี เวลาสายใกล้เที่ยง ขณะที่พระนางสิริมหามายาพร้อมด้วยราชบริพาร เสด็จไปถึงป่าลุมพินี พระนางได้ประชวรพระครรภ์จะประสูติ ข้าราชบริพารผู้ตามเสด็จ ได้จัดที่ประสูติถวาย ณ ใต้ร่ม ไม้สาละ พระศาสดาได้ประสูติจากพระครรภ์พระมารดาในที่นั้น
พระศาสดาได้เสด็จอุบัติมา เพื่อทรงอุปการะอันใหญ่ยิ่งในโลก ฉะนั้นเวลาประสูติจึงประกอบด้วย กฤษดาภินิหาร คือพระมารดาเสด็จยืนไม่นั่งเหมือนสตรีอื่น พระองค์ประสูติบริสุทธิ์ ไม่เปรอะเปื้อนด้วยครรภ์มลทิน มีหมู่เทพยดามารับก่อน มีธารน้ำร้อนน้ำเย็น ตกลงมาจากอากาศ เพื่อสนานพระองค์ พอประสูติแล้วทรงดำเนินด้วยพระบาทไป 7 ก้าว เปล่งพระวาจาเป็นบุรพนิมิต แห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ

การออกผนวช



การออกผนวช ในฐานะที่เจ้าชายสิทธัถะทรงเป็นรัชทายาท ได้รับการบำรุงบำเรออย่างเต็มที่ แต่พระองค์ก็ได้พบและเข้าพระทัยในสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งหลายที่มีความแตกต่างกันตามระบบวรรณะที่รุนแรง จึงทรงครุ่นคิดอยู่เสมอเพื่อหาหนทางแห่งการหลุดพ้นจากความทุกข์ จึงทรงเสด็จออกจากพระนครโดยทรงม้ากัณฐกะ มีนายฉันนะตามเสด็จมุ่งสู่แคว้นมคธ เวลาใกล้รุ่งเสด็จถึงแม่น้ำอโนมา เสด็จข้ามแม่น้ำแล้ว ประทับริมฝั่งทรงตัดพระเมาลีด้วยพระขรรค์ อธิฐานเพศเป็นบรรพชิต ณ ที่นั้น การเสด็จบรรพชาครั้งนี้เรียกว่า มหาภิเนษกรมณ์


เหตุผลที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช 1. เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกนอกพระราชฐาน 4 ครั้งและทรงพบเทวทูตทั้ง 4 ครั้งคือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ทังเวชและสลดพระทัยใรงสนเทวทูตทั้งสาม ข้างต้น และทรงพอพระทัยในความเป็นสมณะ 2. เหตุผลตามคำพยากรณ์ เจ้าชายสิทธัตถะทรงได้รับคำพยากรณ์ว่า ถ้าทรงครองฆราวาส จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าเสด็จออกบรรพชา จะได้เป็นศาสดาเอกของโลก พระองค์ทรงทราบคำพยากรณ์นี้ดีจึงทรงพิจารณาผลดีผลเสียระหว่างความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิกับความเป็นพระพุทธเจ้า ดังตัวอย่างการเป็นพระเจ้าจักรพรรดิเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เมื่อยังมีกำลังเข้มแข็งอยู่ก็รักษาอำนาจไว้ได้ เมื่ออ่อนกำลังลง ก็เกิดการกบกขึ้นทั่วไป พระเจ้าจักรพรรดิได้เสื่อมอำนาจเมื่อทรงชราภาพเป็นตัวอย่างในอดีตมามากล้ว เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดลึกซึ่งแล้ว การเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ มีผลเสียมากกว่าผลดี ส่วนการเป็นพระพุทธเจ้ามีผลดีมากกว่าผลเสีย ดังตัวอย่าง การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งเที่ยงแท้แน่นอน การพ้นจากกิเลสเป็นการพ้นอย่างเด็ดขาดไม่มีวันเสื่อมอีก ทรงเป็นพระพุทธเจ้าได้ทุกหนทุกแห่ง ทุกกาลเวลา การเป็นพระพุทธเจ้าทรงทำประโยชน์ได้มากมายหลายอย่าง แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า พุทธจักรไม่มีพรมแดน เสด็จไปประกาศศาสนาได้ทุกแคว้นทุกเมือง ได้รับการต้อนรับอย่างดี มีคนเป็นอันมากเลื่อมใส 3. เหตุผลเพื่อความเป็นธรรมในสังคม สังคมอินเดียเป็นสังคมที่มีวรรณะ การยึดถือเรื่องวรรณะเป็นไปอย่างรุนแรง วรรณะชั้นสูง 2 วรรณะคือ พราหมณ์ และกษัตริย์แก่งแย่งชิงดีกันมา โดยตลอดสำหรับวรรณะแพศย์เป็นวรรณะกลางพยายามแข่งขันสร้างฐานะให้เป็นเศรษฐี โดยการเอารัดเอาเปรียบคนจนคือพวกวรรณะศูทรความต้องการเลิกวรรณะในสังคมและความต้องการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจที่เอารัดเอาเปรียบกันก็เป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช

สถานะทางสังคมของเจ้าชายสิทธัตถะ

แคว้นสักกะเป็นแคว้นเล็กๆไม่มีกำลังทหารที่เข้มแข็งปกครองโดยเจ้าเชื้อสายศากยวงศ์ซึ่งมีลัษณะเฉพาะตัว ที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ถือตัว จึงมักอภิเษกสมรสกันในหมู่พี่น้องร่วมพระบิดาพระมารดา และในหมู่วงศานุวงศ์ใกล้ชิด ยอมรับระบบวรรณะของอินเดียในสมัยนั้นสังคมจึงมีความรังเกียจกันระหว่างวรรณะ
แคว้นสักกะเป็นแคว้นเกษตรกรรม มีการทำนาปลูกข้าวสาลีเป็นส่วนใหญ่ สภาพเศรษฐกิจของแคว้นสักกะ จึงไม่เจริญรุ่งเรืองเท่าไรนัก เจ้าชายสิทธัตถะเคยตรัสว่า เป็นชนบทที่ถึงพร้อมด้วย ความเพียรหาทรัพย์ หมายความว่า ประชาชนมีความขยันขันแข็ง และภูมิประเทศไม่ได้อุดมสมบูรณ์นัก สภาพความเป็นอยู่ เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงศึกษาจบแล้ว สมควรมีพระชายาได้ขณะนั้นเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุ 16 พรรษา พระราชบิดาทรงสู่ขอเจ้าหญิงยโสธรา โกลิวงศ์มาอภิเษก ทรงสร้างปราสาท 3 หลังสำหรับประทับอยู่ 3 ฤดู มีการบำรุงบำเรอด้วยดนตรี ล้วนแต่สตรีบรรเลง ไม่มีบุรุษเจือปนจนเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุ 29 พรรษา และทรงมีโอรสองค์หนึ่งกับพระนางยโสธรา คือเจ้าชายราหุล

เจ้าชายสิทธัตถะได้รับการบำรุงบำเรออย่างเต็มที่ซ้ำ ๆ ซาก ๆ เป็นเวลาถึง 13 ปี นานเพียงพอ ที่จะถึง จุดอิ่มตัวและเกิดความเบื่อหน่าย เจ้าชายสิทธัตถะทรงมีความรู้สูงทั้งทางโลกและทางธรรม พระองค์ย่อมทรงพิจารณาสิ่งแวดล้อมของพระองค์ได้ลึกซึ้งถึงแก่น แม้พระองค์จะไม่ได้เสด็จออกไป นอกพระราชวังบ่อยนัก แต่เสด็จออกไปคราวใด ก็ทรงพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนนอกจากนั้น พระองค์ ทรงสดับรับฟัง และทรงครุ่นคิดพิจารณาด้วยเหตุผล ก็ทรงทราบสภาพแวดล้อมในแคว้นของพระองค์ ได้อย่างดีทั้งในพระราชฐานและนอกพระราชฐาน

พุทธประวัติ



พุทธประวัติ

ชาติภูมิของเจ้าชายสิทธัตถะ

เจ้าชายสิทธัตถะทรงเป็นโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางมายาแห่งแคว้นสักกะซึ่งเป็นประเทศราชของแคว้นโกศล แต่พระเจ้ามหาโกศลไม่ทรงเข้มงวดนัก พระเจ้า-สุทโธทนะจึงทรงมีพระราชอำนาจมากพอสมควรและทรงปกครองแคว้นแบบประชาธิปไตยแบบสืบสันตติวงศ์เจ้าชายสิทธัตถะประสูติใต้ต้นสาละตรงกับวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอตรงกับวันที่ 18 พฤษภาคม






เมื่อประสูติได้ 5 วัน มีพิธีเฉลิมพระนามโดยพราหมณ์ 108 คนมาทำพิธี และตั้งพระนามว่าสิทธัตถะพราหมณ์ 8 คน ให้ทำนายลักษณะของพระราชโอรส พราหมณ์ 7 คนทำนายเหมือนกับที่ กาฬเทวิลดาบสทำนายไว้คือถ้าพระองค์ทรงครองราชสมบัติจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิถ้าทรงออกผนวชจะได้เป็นศาสดาเอกของโลก เป็นธรรมดาที่เจ้าศากยะซึ่งเป็นวรรณะกษัตริย์ ต้องการให้พระองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์มีพราหมณ์ชื่อโกญฑัญญะที่หนักไปในการแสวงหาความหลุดพ้น ต้องการให้พระองค์เสด็จออกผนวช



การศึกษา เจ้าสิทธถะทรงได้รับการทะนุทะถนอมจากพระเจ้าแม่น้าผู้รักพระกุมารอย่างกะว่าเป็นพระโอรสของพระองค์เอง จนพระกุมารมีพระชนมายุได้ 8 พรรษาพระเจ้าสุทโธทนะ ได้ประทานครูบาอาจารย์มาสอนศิลปวิทยาถวายเจ้าชาย ครูวิศวามิตรได้รับคัดเลือกให้เป็นพระอาจารย์ที่ใกล้ชิดพระเจ้าสุทโธทนะทรงวางหลักในการเรียนการสอนไว้ 3 ประการ คือ 1. ต้องสอนเรื่องจริง 2. ต้องสอนเรื่องที่ถูกต้อง 3. ต้องสอนไม่ให้เอาความรู้ไปข่มผู้อื่น วิชาที่ทรงศึกษาคือ ศิลปศาสตร์ 18 ประการ ไตรเพท และเวทางคศาสตร์ ศิลปศาสตร์ 18 ประการ มีตั้งแต่ศิลปะการปกครอง ศิลปะการดูลักษณะคนและพื้นที่ศิลปะการดูดวงดาว ศิลปะการใช้อาวุธต่างๆในการรบ ศิลปะทางภาษาและกวีนิพนธ์ กล่าวโดยสรุปแล้ว เป็นศิลปะที่พร้อมจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิได้ คือเป็นศิลปะทางโลก ไตรเพทนี้เกี่ยวข้องกับการกล่าวสรรเสริญพระเจ้า และการประกอบพิธีกรรม ผู้เรียนจบแล้วจะมีความรู้ทางธรรมพร้อมที่จะเป็นนักบวชแบบพราหมณ์ได้ หรือเป็นความรู้ทางธรรม เจ้าชายสิทธัตถะทรงศึกษาจบความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม ถ้าเปรียบกับปัจจุบัน คือ จบปริญญาเอกในทุกสาขา เพราะไม่มีความรู้ที่จะต้องทรงศึกษาต่อไป